วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ขั้นตอนการประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า

ขั้นตอนและวิธีการประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า

 

            ในการดำเนินการประหารชีวิตด้วยการยิงเป้านั้น  หลังจากที่เรือนจำกลางบางขวางได้รับคำสั่งจากสำนักนายกรัฐมนตรี หรือคำสั่งใดก็ตามที่มีอำนาจถูกต้องตามกฎหมาย ให้ดำเนินการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดที่ถูกศาลตัดสินลงโทษประหารชีวิต เรือนจำจะมอบหมายหน้าที่ให้ฝ่ายทะเบียนประวัติผู้ต้องขัง ทำการตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักโทษประหารว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับคำสั่งที่ให้ดำเนินการประหารชีวิตหรือไม่ เพื่อป้องกันการประหารผิดคน    และเรือนจำจะออกคำสั่งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการประหารชีวิต ได้แก่หัวหน้าชุดผู้ให้สัญญาณยิง 1 นาย พี่เลี้ยง 3  นาย  เจ้าหน้าที่ถ่ายภาพ 1 นาย เจ้าหน้าที่ทะเบียน 2 นาย หัวหน้าฝ่ายทัณฑปฎิบัติ 1 นาย หัวหน้างานทัณฑปฎิบัติ 1 นาย พลเล็งปืน 1 นาย เพชฌฆาต 2 นาย (เพชฌฆาตมือหนึ่งและเพชฌฆาตมือสอง) โดยแจ้งเจ้าหน้าที่เหล่านั้นทราบอย่างเป็นความลับที่สุด เพื่อป้องกันมิให้นักโทษที่จะถูกประหารหรือญาติของนักโทษรู้ตัวล่วงหน้า ซึ่งอาจเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ขึ้นได้เช่น การพยายามฆ่าตัวตายของนักโทษก่อนการประหาร หรือการพยายามชิงตัวนักโทษจากญาติและพวกพ้อง   

สมัยที่ยังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกอยู่ ได้เกิดคดีข่มขืนฆ่าขึ้นที่จังหวัดอุดรธานีและสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ เป็นพลเรือน  3  คน  ทหาร 1  คน   ซึ่งประจำการอยู่ที่โคราช  ศาลทหารได้ตัดสินให้ลงโทษประหารชีวิตทั้งหมด ไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาใด ๆ ทั้งสิ้น นักโทษประหารที่เป็นทหารซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำทหารโคราช ได้ใช้ขวดตีเป็นปากฉลามแล้วแทงตัวเองหวังที่จะฆ่าตัวตายเพื่อหนีโทษประหาร  เรือนจำทหารจึงได้รีบนำตัวส่งเข้ารักษาเพื่อช่วยชีวิตเป็นการด่วน จากนั้นนำตัวขึ้นรถพยาบาลไปที่เรือนจำกลางอุดรธานี เพื่อทำการประหารชีวิตพร้อมคู่คดีอีก 2 คนที่เป็นพลเรือน (ทำผิดที่ไหนประหารที่นั้น) ซึ่งในความเป็นจริงแล้วถึงไม่นำตัวนักโทษที่พยายามฆ่าตัวตายผู้นั้นไปประหาร นักโทษผู้นั้นก็ต้องตายอยู่ดี เนื่องจากบาดแผลฉกรรจ์และเสียเลือดมาก แต่กฎหมายได้ระบุไว้ว่า ผู้ต้องโทษประหารชีวิตให้นำไปยิงเสียให้ตายซึ่งด้วยปืนจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงการประหารไปได้ และจะใช้อาวุธชนิดอื่นใดมาทำการประหารชีวิตก็ไม่ได้อีกเช่นกัน

            เจ้าหน้าที่ชุดประหารเมื่อรับทราบคำสั่งแล้ว จะจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ใช้ในการประหารชีวิต เช่นอาวุธปืน กระสุน กุญแจมือ ดอกไม้ธูปเทียน ด้ายดิบ มีดตัดเชือก ฯลฯ ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมจะใช้งานได้ จากนั้นเรือนจำจะทำหนังสือแจ้งกรรมการ เพื่อขอให้มาเป็นพยานรับทราบการประหารชีวิตในวันนั้น ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี อัยการจังหวัด ตัวแทนกรมราชทัณฑ์ แพทย์ ผู้กำกับการตำรวจสภ..นนทบุรี โดยมีผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวางร่วมเป็นพยานด้วย รวมทั้งแจ้งไปที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(กรมตำรวจเก่า) เพื่อขอให้ส่งเจ้าหน้าที่พร้อมทะเบียนประวัติของนักโทษที่จะถูกประหาร มาร่วมตรวจสอบตัวบุคคลเพื่อป้องกันการผิดพลาด และพิมพ์ลายนิ้วมือของนักโทษทั้งก่อนและหลังการประหารตามระเบียบที่วางไว้

            ขั้นตอนต่อไป  จะนิมนต์พระสงฆ์จากวัดบางแพรกใต้ มาเทศนาธรรมแก่นักโทษ ถ้านักโทษประหารรายใดนับถือศาสนาอื่น ทางเรือนจำจะให้เวลาประกอบพิธีทางศาสนาของตน ในช่วงเวลาก่อนการประหารเช่นเดียวกันกับศาสนาพุทธ   หลังจากได้นิมนต์พระสงฆ์ไว้แล้ว   เจ้าหน้าที่ชุดประหารจะรอเวลาจนกว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำตามแดนต่าง ๆ จะนำนักโทษทั้งหมดเข้าคุมขังภายในเรือนนอนให้เป็นที่เรียบร้อย ระหว่างที่รอ เจ้าหน้าที่ชุดประหารจะแยกกันไปสวดมนต์ใหว้พระหรือประกอบพิธีตามความเชื่อของแต่ละคน

เมื่อถึงเวลาประมาณ 16.15 . เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่พี่เลี้ยงพร้อมด้วยผู้อำนวยการส่วนควบคุมผู้ต้องขังหรือผู้ทำหน้าที่แทน จะเข้าไปเบิกตัวนักโทษประหารตามรายชื่อที่มีในคำสั่ง ภายในหมวดควบคุมนักโทษประหารแดน 1 แล้วนำไปที่หมวดผู้ช่วยเหลือและประสานงาน ซึ่งใช้เป็นสถานที่ดำเนินขั้นตอนก่อนการประหาร เริ่มจากการพิมพ์ลายนิ้วมือ ตรวจสอบตำหนิแผลเป็น ประวัติบุคคลเช่น พ่อ แม่ ลูก เมีย ว่าถูกต้องตรงกันหรือไม่ ทั้งจากเจ้าหน้าที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนประวัติผู้ต้องขังของทางเรือนจำ จากนั้นเวรผู้ใหญ่ จะทำการอ่านคำสั่งให้ยกฎีกาของนักโทษประหาร ที่ได้ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษไปแต่ไม่ผ่าน แล้วให้นักโทษเซ็นทราบในคำสั่ง หลังจากนั้นจะเปิดโอกาสให้นักโทษเขียนพินัยกรรมมอบทรัพย์สินของตนให้แก่ทายาทได้ตามต้องการ โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนร่วมเป็นสักขีพยาน รวมทั้งสามารถเขียนจดหมายสั่งเสียถึงลูก เมีย ญาติพี่น้องได้ตามสะดวก และเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนจะขอที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ เพื่อใช้ในการติดต่อแจ้งให้ญาติของนักโทษประหารทราบหลังการประหารเสร็จสิ้นแล้ว

            ต่อจากนั้นจะเป็นรายการอาหารมื้อสุดท้าย ซึ่งทางเรือนจำได้จัดเตรียมไว้ให้ แต่ถ้าต้องการรับประทานสิ่งใดนอกเหนือจากที่ได้จัดให้ และเป็นอาหารที่หาได้ไม่ยากในบริเวณใกล้เคียงเรือนจำทางเจ้าหน้าที่จะจัดหามาให้ ยกเว้นสิ่งของต้องห้าม เช่น สุรา ยาเสพติด ซึ่งไม่สามารถจัดหาให้ได้อย่างเด็ดขาด หลังจากรับประทานอาหารเสร็จ พี่เลี้ยงจะพานักโทษประหารไปฟังเทศนาธรรมจากพระสงฆ์ที่ได้นิมนต์มา ภายในห้องเยี่ยมนักโทษสำหรับทนาย นักโทษประหารรายไหนนับถือศาสนาอื่น ทางเรือนจำจะให้เวลาในช่วงนี้ ประกอบพิธีทางศาสนาของตนเช่นกัน เมื่อเสร็จพิธีทางศาสนาแล้ว พี่เลี้ยงจะพาเดินไปยังห้องประหารหรือที่มีชื่อเรียกว่า สถานที่หมดทุกข์พี่เลี้ยงจะเข้าประคองแขนข้างละคน คอยปลอบขวัญให้กำลังใจ และป้องกันไม่ให้เกิดอาการคลุ้มคลั่งในระหว่างทาง ถ้านักโทษประหารเดินไม่ไหว พี่เลี้ยงจะจัดรถเข็นนั่งสำหรับคนป่วยให้ ส่วนใหญ่แล้วจะขอเดินไปเองเพื่อแสดงความเข้มแข็ง แล้วไปเกิดอาการเข่าทรุดเมื่อใกล้ถึงห้องประหารแทบจะทุกราย

            เส้นทางเดินไปสู่ห้องประหารนั้นมีระยะทางประมาณ 400 เมตร ระหว่างทางจะผ่านศาลเจ้าพ่อเจตคุปต์ ซึ่งเป็นสถานที่เคารพบูชาของทุกผู้คนในเรือนจำ  พี่เลี้ยงจะให้นักโทษประหารได้มีโอกาสกราบไหว้บริเวณหน้าศาลแห่งนี้ แล้วพาเดินต่อไปจนถึงศาลาแปดเหลี่ยม หรือมีชื่อเรียกว่า ศาลาเย็นใจศาลาแห่งนี้ตั้งอยู่หน้าห้องประหารพอดี ภายในศาลาเย็นใจมีโต๊ะและเก้าอี้ทาสีขาวตั้งอยู่อย่างละ 1 ตัว โดยหันหน้าเข้าหาอุโบสถวัดบางแพรกใต้ บนโต๊ะจะมีผ้าดิบและดอกไม้ธูปเทียนวางอยู่ตามจำนวนนักโทษที่จะนำเข้าประหาร เมื่อพี่เลี้ยงพานักโทษประหารเข้าในศาลาแล้ว จะให้นักโทษนั่งที่เก้าอี้ตัวนี้      พนมมือพร้อมดอกไม้ธูปเทียนไหว้ไปทางพระประธานที่อยู่ในอุโบสถวัดบางแพรกใต้ ช่วงนี้พี่เลี้ยงจะคอยแนะนำให้นักโทษประหารนึกถึงแต่สิ่งดีงามที่เคยทำใว้พร้อมทั้งบอกให้ท่อง พุทโธไว้ในใจอย่าคิดเรื่องอื่นให้ฟุ้งซ่าน   จังหวะนี้พี่เลี้ยงคนหนึ่งจะนำผ้าดิบบนโต๊ะมาผูกตานักโทษประหารให้แน่นสนิท เพื่อป้องกันการมองเห็นภายในห้องประหาร ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการหวาดกลัวและคลุ้มคลั่งขึ้นได้ แล้วพี่เลี้ยงจะช่วยกันประคองลุกขึ้นพาเดินเข้าไปที่ห้องประหาร

            ภายในห้องประหาร มีแท่นปืนตั้งอยู่ 2 แท่น มีอาวุธปืนวางติดตั้งอยู่บนแท่น 2 กระบอก ซึ่งอาวุธปืนที่ใช้ในการประหารคือ ปืนเอชเค.เอ็มพี.ไฟท์ ใช้กระสุนขนาด 9 มม.พาราเบลลั่มชนิดหัวแข็ง ติดท่อเก็บเสียงจำนวน 2 กระบอก (เวลายิงยังสามารถได้ยินเสียงปืน แต่ไม่มากนัก)  ถัดจากแท่นปืนเข้าไปประมาณ 6 เมตร จะมีหลักไม้เป็นรูปไม้กางเขน สูงประมาณ 1.80 เมตร  ตั้งเรียงตรงกันกับแท่นปืนจำนวน 2 หลัก ที่กลางหลักมีแท่นไม้ยื่นออกมา 1 ท่อน สามารถถอดใส่ตามความสูงต่ำได้ 3 ระดับ หลักไม้ทั้ง 2 หลักนี้มีชื่อเรียกว่า หลักประหารถัดจากหลักประหารเข้าไปประมาณ 1 เมตรมีกระสอบทรายวางเรียงอยู่ติดกับผนังห้อง มีความสูงประมาณ 2 เมตร ด้านขวามือภายในห้องประหารจะมีห้องเล็กอยู่ 1 ห้อง กว้างประมาณ 1.50 เมตร ยาวประมาณ 3.50 เมตร เป็นห้องโล่งว่างเปล่า(บางครั้งใช้เก็บโลงศพเปล่าด้วย)

            เมื่อพี่เลี้ยงประคองนักโทษเข้ามาถึงหลักประหารแล้ว ถ้าเป็นการประหารเพียงรายเดียวจะใช้หลักประหารด้านขวามือหรือ หลักที่ 1แต่ถ้ามากกว่า 1 รายขึ้นไป จะใช้หลักประหารด้านซ้ายมือหรือ หลักที่ 2  ร่วมทำการประหารด้วย พี่เลี้ยงจะจับให้นักโทษประหารนั่งบนแท่นไม้ที่ปรับระดับตามขนาดความสูงของตัวนักโทษผู้นั้น การนั่งจะต้องให้ขาทั้ง 2 ข้างลอยพ้นจากพื้นไม่สามารถลุกขึ้นยืนได้    และต้องหันหน้าเข้าหาหลักประหาร    โดยมีแท่นปืนตั้งอยู่ที่ด้านหลังของนักโทษประหาร พี่เลี้ยงจะจับให้นักโทษเอามือโอบรอบหลักประหาร โดยให้ศอกทั้ง 2 ข้างวางบนไม้กางเขนซึ่งสูงเสมอไหล่ของนักโทษ ต่อจากนั้นพี่เลี้ยงจะทำการมัดตัวของนักโทษ ให้ติดกับหลักประหารด้วยด้ายดิบทั้งหมด 5 จุดด้วยกันคือ ที่เอว ที่หน้าอก ให้ติดกับเสาหลักประหารที่ข้อศอกทั้ง 2 ข้าง ให้ติดกับไม้กางเขนทั้ง 2 ด้าน และที่ข้อมือในลักษณะที่พนมมือโอบรอบเสามีดอกไม้ธูปเทียนอยู่ภายในอุ้งมือด้วย การมัดตัวนักโทษให้ติดกับหลักประหารทั้ง 5 จุดนี้  ต้องมัดให้แน่นจนนักโทษไม่สามารถขยับตัวได้  เสร็จแล้วจะเชิญแพทย์มาชี้จุดที่ตั้งของหัวใจบริเวณแผ่นหลังของนักโทษประหาร เมื่อได้จุดที่ตั้งของหัวใจแล้ว พี่เลี้ยงจะใช้ช็อล์กกากบาทจุดไว้ 

ต่อจากนั้นจะยกแผงผ้าม่านซึ่งมีขนาดความกว้างประมาณ 1.20 เมตร สูงประมาณ 2.00 เมตร มาตั้งที่ด้านหลังของนักโทษประหาร โดยให้ห่างประมาณ 1 ฟุต  ที่แผงผ้าม่านนี้จะมีเป้าตาวัวติดอยู่ตรงกลางผืนผ้าม่าน 1 เป้า หันหน้าเป้าเข้าหาแท่นปืนและสามารถขยับเป้าขึ้นลงได้โดยการเลื่อนผ้าม่านขึ้นลง ที่กรอบของแผงผ้าม่านจะมีแผ่นไม้ขนาดความกว้างประมาณ   2  นิ้ว  หนาประมาณครึ่งนิ้ว   ตีล้อมรอบแผงผ้าม่านตามแนวนอน สามารถขยับแผ่นไม้นี้ขึ้นลงได้ ตรงกลางของแผ่นไม้จะมีเดือยยื่นออกมาทั้งสองด้านตรงกัน ด้านหนึ่งจะชี้เข้าหาแผ่นหลังของนักโทษประหาร ส่วนอีกด้านหนึ่งจะชี้เข้าหาแท่นปืน พี่เลี้ยงจะช่วยกันขยับแผ่นไม้นี้ให้เดือยด้านที่ชี้เข้าหานักโทษตรงกับจุดที่ตั้งของหัวใจที่ทำเครื่องหมายไว้ แล้วจับยึดแผ่นไม้นี้ไว้ให้นิ่งสนิทอยู่กับที่ ต่อจากนั้นจะขยับผืนผ้าม่านเลื่อนขึ้นลง โดยให้จุดศูนย์กลางของเป้าตาวัวตรงกับจุดศูนย์กลางของเดือยด้านที่หันเข้าหาแท่นปืน เสร็จแล้วจะเลื่อนแผ่นไม้นี้ขึ้นล็อกเก็บที่ด้านบนของแผงผ้าม่าน จุดศูนย์กลางของเป้าตาวัวจะตรงกับจุดที่ตั้งของหัวใจนักโทษประหารพอดี

เมื่อตั้งเป้าเสร็จแล้วพี่เลี้ยงจะใช้ทรายแห้งโรยรอบหลักประหาร เพื่อให้ซับเลือดของนักโทษประหารหลังจากถูกยิง ซึ่งจะไหลนองลงมาจากหลักประหารจำนวนมาก และกล่าวขอขมาลาโทษต่อนักโทษประหารอีกครั้งหนึ่ง

            ขั้นตอนต่อไปจะเป็นหน้าที่ของพลเล็งปืน ซึ่งพลเล็งปืนจะทำการบรรจุกระสุนใส่แมกกาซีนจำนวน 15 นัด แล้วนำไปเสียบใส่ตัวปืนในช่องเสียบแมกกาซีน ทำการขึ้นลำเลื่อนป้อนกระสุนเข้ารังเพลิงโดยเข้าห้ามไกไว้ จากนั้นจะเล็งศูนย์ปืนไปที่จุดศูนย์กลางของเป้าตาวัว เมื่อตรงดีแล้วจะล็อกตัวปืนให้ยึดติดแน่นกับแท่นปืน แล้วแจ้งให้เพชฌฆาตทำการตรวจสอบศูนย์ปืนอีกครั้งหนึ่งว่าตรงเป้าดีแล้วหรือไม่

            ในการดำเนินการประหารชีวิต ถ้าทำการประหารชีวิตเพียงรายเดียว จะให้เพชฌฆาตที่ 1 หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า เพชฌฆาตมือหนึ่งทำการประหารชีวิต แต่ถ้าทำการประหารชีวิตมากกว่า 1 รายภายในวันเดียวกัน เพชฌฆาตที่ 2 หรือที่เรียกกันว่า เพชฌฆาตมือสองจะร่วมทำการประหารชีวิตด้วย

            เมื่อเพชฌฆาตได้ตรวจสอบศูนย์ปืนว่าตรงกับจุดศูนย์กลางของเป้าตาวัวดีแล้ว เพชฌฆาตจะแจ้งความพร้อมต่อหัวหน้าชุดประหารที่ยืนถือธงแดงอยู่ข้างแท่นปืนด้านขวามือ พร้อมกับทำการปลดห้ามไก หัวหน้าชุดประหารเมื่อรับทราบความพร้อมแล้วจะโบกธงแดงลง จังหวะนี้เพชฌฆาตจะทำการเหนี่ยวไกปืนลั่นกระสุนออกไปทันที

            ในการยิงแต่ละครั้งจะใช้กระสุนประมาณ 8-10นัด โดยมีวิธียิงเพื่อให้นักโทษประหารสิ้นใจอย่างรวดเร็วที่สุด ไม่ต้องเจ็บปวดทรมาน ขั้นแรกเพชฌฆาตจะปลดห้ามไกปืนไปที่ตำแหน่งยิงทีละนัด เมื่อหัวหน้าชุดโบกธงลงแล้ว เพชฌฆาตจะเหนี่ยวไกยิงนัดแรกก่อน เมื่อนักโทษประหารได้ยินเสียงปืนพร้อมกับกระสุนนัดแรกผ่านทะลุร่างไป จะสะดุ้งขึ้นสุดตัวแล้วร่างจะทรุดลงทันทีในจังหวะที่ร่างของนักโทษประหารทรุดลงนี้ จะเป็นจังหวะเดียวกันกับที่เพชฌฆาตรัวนิ้วยิงออกมาเป็นชุด กระสุนจะพุ่งเข้าสู่ร่างนักโทษประหารหลายจุด ถ้าหากกระสุนนัดแรกไม่ตรงหัวใจดีพอ นัดต่อไปก็จะทำให้สิ้นใจได้ในทันที แต่ถ้าทำการปลดห้ามไกไปที่ตำแหน่งยิงเป็นชุด(ปืนกล) กระสุนที่พุ่งออกไปตอนเหนี่ยวไก จะออกไปจำนวนหลายนัดเร็วมากแทบจะได้ยินเป็นเสียงเดียวกัน  เมื่อกระสุนผ่านร่างของนักโทษประหาร บาดแผลจะอยู่ที่ตำแหน่งเดียว ถ้าหากไม่ตรงกับตำแหน่งหัวใจพอดีนักโทษประหารอาจไม่สิ้นใจทันที ทำให้ต้องทำการยิงซ้ำในภายหลังอีก

            หลังจากเพชฌฆาตทำการยิงแล้วประมาณ 3-5 นาที แพทย์และพี่เลี้ยงจะเข้าไปตรวจดูร่างของนักโทษประหารว่าสิ้นใจแล้วหรือยัง พี่เลี้ยงจะเปิดผ้าผูกตาของนักโทษออก เพื่อให้แพทย์ตรวจดูม่านตาและตรวจเช็คชีพจรข้างลำคอ ถ้ามีอาการบ่งบอกว่านักโทษประหารรายใดยังไม่สิ้นใจ แพทย์และพี่เลี้ยงจะแจ้งให้หัวหน้าชุดประหารทราบ หัวหน้าชุดประหารจะสั่งการให้เพชฌฆาตผู้ทำหน้าที่ในหลักประหารนั้น ทำการยิงซ้ำอีกชุดหนึ่ง เสร็จแล้วแพทย์และพี่เลี้ยงจะเข้าไปตรวจดูอีกครั้ง ถ้านักโทษประหารสิ้นใจแล้วแพทย์และพี่เลี้ยงจะแจ้งให้หัวหน้าชุดประหารทราบอีกเช่นกัน เมื่อหัวหน้าชุดประหารรับทราบ ก็จะสั่งการให้พี่เลี้ยงเป็นผู้นำร่างของนักโทษลงจากหลักประหาร

            วิธีการนำร่างของนักโทษลงจากหลักประหาร พี่เลี้ยงจะขออโหสิกรรมกับร่างของนักโทษที่สิ้นใจอยู่ที่หลักประหารอีกครั้ง แล้วจะใช้มีดที่เตรียมมา ตัดด้ายดิบที่ใช้มัดร่างของนักโทษประหาร เริ่มจากตัดด้ายดิบที่ใช้มัดข้อมือก่อน พร้อมกับนำดอกไม้ธูปเทียนที่อยู่ในมือนักโทษประหารวางไว้บนกระสอบทราย แล้วจึงตัดด้ายดิบที่ข้อศอก ในช่วงนี้พี่เลี้ยงนายหนึ่งจะกดที่หลังของนักโทษประหารไว้ให้ร่างติดกับหลัก เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างของนักโทษหงายหลังลงมา จากนั้นจะตัดด้ายดิบที่เอว ขั้นสุดท้ายคือการตัดด้ายดิบที่หน้าอกซึ่งมีเลือดติดอยู่จำนวนมาก การตัดพี่เลี้ยงผู้ทำการตัดจะแจ้งให้พี่เลี้ยงอีกทั้ง 2 นายทราบก่อน เพื่อระวังไม่ให้ด้ายดิบที่ชุ่มเลือดสบัดไปถูกร่างกายหรือเครื่องแบบของตนได้ เมื่อด้ายดิบที่หน้าอกได้ขาดแล้ว ร่างของนักโทษประหารจะทรุดฮวบลงทันที พี่เลี้ยงจะช่วยกันประคองร่างของนักโทษลงจากหลักประหารแล้วจับพลิกร่างให้นอนคว่ำหน้าลง เพื่อความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่พิมพ์ลายนิ้วมือ การจับพลิกร่างต้องระวังไม่ให้ศีรษะของนักโทษประหารกระแทกพื้น ต่อจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนประวัติผู้ต้องขัง ทำการพิมพ์ลายนิ้วมือร่างของนักโทษประหารอีกครั้งหนึ่ง เพื่อยืนยันว่าเป็นบุคคลเดียวกันตามคำสั่งให้ประหารชีวิต

            ในกรณีที่มีการประหารชีวิตมากกว่า 1  ราย  เช่น  เมื่อครั้งที่มีการประหารชิวิตนักโทษคดียาเสพติดจำนวน 4 ราย นักโทษคดีจ้างวานฆ่าผู้อื่น 1 ราย รวม 5 รายภายในวันเดียวกัน การนำนักโทษเข้าสู่หลักประหาร จะใช้วิธีแบ่งนักโทษออกเป็น 3 ชุด ชุดแรกเริ่มจากนำนักโทษเข้าสู่หลักประหารรายเดียวก่อน โดยใช้หลักประหารหลักที่ 1 เพชฌฆาตมือหนึ่งเป็นผู้ทำการยิง เมื่อนำร่างของนักโทษประหารที่สิ้นใจแล้วลงจากหลัก พี่เลี้ยงจะนำร่างของนักโทษไปเก็บไว้ภายในห้องเล็กที่อยู่ภายในห้องประหารก่อน การประหารชุดที่ 2 พี่เลี้ยงจะนำนักโทษเข้าสู่หลักประหารพร้อมกัน 2 ราย ใช้หลักประหารที่ 1 และ 2 พร้อมกัน โดยเพชฌฆาตมือหนึ่งและเพชฌฆาตมือสอง จะเป็นผู้ทำการยิงพร้อมกัน เสร็จแล้วพี่เลี้ยงจะนำร่างของนักโทษประหารที่สิ้นใจแล้ว ไปเก็บไว้ภายในห้องเล็กอีก การประหารชุดที่ 3 พี่เลี้ยงจะนำนักโทษเข้าสู่หลักประหารพร้อมกัน 2 รายเช่นเดียวกับชุดที่ 2 โดยมีเพชฌฆาตมือหนึ่งและเพชฌฆาตมือสอ เป็นผู้ทำการยิงพร้อมกันเช่นเดิม แต่เมื่อนำร่างของนักโทษลงจากหลักประหารแล้ว พี่เลี้ยงจะพลิกร่างของนักโทษประหารให้นอนคว่าหน้า บริเวณหน้าหลักประหาร แล้วไปนำร่างของนักโทษประหารทั้งหมดที่เก็บไว้ในห้องเล็ก ออกมานอนคว่ำหน้าเรียงไว้ที่หน้าหลักประหารเช่นเดียวกัน เสร็จแล้วจึงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พิมพ์ลายนิ้วมือเช่นเดิม จากนั้นจะปิดล็อกห้องประหารไว้ 1 คืน โดยมีร่างของนักโทษประหารอยู่ภายใน

            วันรุ่งขึ้นนักโทษชั้นเยี่ยมที่สมัครใจ จะไปล้างคราบเลือดภายในห้องประหาร ตัดโซ่ตรวนที่ขาของร่างนักโทษประหาร แล้วนำร่างของนักโทษประหารออกมาอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดที่บริเวณหน้าห้องประหาร เสร็จแล้วจะเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ใหม่ ทำการห่อผ้าขาวมัดตราสังข์ แล้วนำบรรจุลงโลงศพ ปิดฝาโลง เขียนชื่อและเลขหมายประจำตัวของนักโทษประหารที่หัวโลง จากนั้นจะนำโลงศพที่มีร่างของนักโทษประหาร ออกทางประตูผีซึ่งทาสีแดงและอยู่ติดกับห้องประหาร นำไปเก็บไว้ในช่องเก็บศพที่สร้างไว้สำหรับนักโทษประหารโดยเฉพาะ ภายในวัดบางแพรกใต้ เพื่อรอให้ญาติมารับไปดำเนินการ แต่ถ้าภายในระยะเวลา 2 ปีศพของนักโทษประหารรายใดไม่มีญาติมารับไปดำเนินการ ทางเรือนจำจะนำศพของนักโทษประหารเหล่านั้น มาประกอบพิธีทางศาสนาและทำการฌาปนกิจให้ พร้อมกับทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่นักโทษประหารเหล่านั้น

            ในกรณีที่นักโทษประหารนับถือศาสนาอื่น ทางเรือนจำจะทำการติดต่อโบสถ์หรือสุเหร่าที่ใกล้ที่สุด เพื่อขอให้มารับศพไปดำเนินการตามหลักศาสนาต่อไป

 


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น